การจัดแสดงโซนที่ ๕
ไตรลักษณ์ สัจจะแห่งชีวิต
ขอนำท่านเข้าสู่การจัดแสดงโซนที่ ๕ “ไตรลักษณ์ สัจจะแห่งชีวิต”
โซนที่ ๕ นี้มีชื่อว่า “ไตรลักษณ์ สัจจะแห่งชีวิต” นำเสนอหลักสัจธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่มุ่งสอนให้เข้าใจชีวิตของมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวงอันได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความทนอยู่ไม่ได้) อนัตตา (ความไม่มีตัวตน) เป็นการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ เพื่อให้ตระหนักรู้ และเกิดความเข้าใจว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นสัจธรรมของทุกชีวิต เป็นเครื่องเตือนใจให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และดำรงตนด้วยความไม่ประมาท ผ่านงานประติมากรรมครึ่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์จนถึงก่อนเสด็จสวรรคต จำนวน ๙ ชิ้นงาน เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพระวรกาย รูปปริศนาธรรมนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจว่า ไม่ว่าจะยากดีมีจน ดำรงยศศักดิ์หรือฐานันดรใดก็ตาม ก็ไม่อาจพ้นหลักไตรลักษณ์นี้ไปได้ สักวันหนึ่งต้องแตกดับสลายไปในที่สุด
ประติมากรรมกลุ่ม “ไตรลักษณ์”
งานประติมากรรมเหมือนจริงเต็มพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีความเป็นอุดมคติ แสดงรูปพระราชจริยวัตรในช่วงต่างๆ ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย แท่นฐานของพระบรมรูปจะมีความสูงน้อยกว่าแท่นฐานที่ใช้ในงานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั่วไป เพื่อสื่อถึงความใกล้ชิดกับประชาชน เช่นเดียวกับพระราชจริยวัตรที่ทรงใกล้ชิดกับประชาชนเสมอมา การหยิบยกพระราชจริยวัตร เช่น ความสนพระราชหฤทัยในสิ่งต่างๆ ความรัก การเจริญวัย พระราชอุปนิสัย และพระพลานามัย เหล่านี้แสดงให้เราเห็นถึงความสามัญอย่างปุถุชนทั่วไป
ช่วงที่ ๑:๒๔๗๐ – ๒๔๗๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/Zone-2-4.png;
– ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ทารกเพศชายนัยน์ตากลมโตสีน้ำตาลเข้ม ได้กำเนิด ณ โรงพยาบาลเคมบริดจ์) รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ในเช้าวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐
||พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์และหม่อมสังวาลย์ (พระยศในครั้งนั้น) เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐ เวลา ๐๘.๔๕ น. ซึ่งตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะของไทย ณ โรงพยาบาลเคมบริดจ์ (โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์นในปัจจุบัน) นครบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.ดับบลิว. สจวต วิตต์มอร์ ผู้ถวายการประสูติ ได้ระบุด้วยลายมือลงในใบเกิดว่า “Baby Songkla” บิดาชื่อ มหิดล สงขลา อาชีพนักเรียนแพทย์ มารดาชื่อ สังวาลย์ ตะละภัฏ อาชีพแม่บ้าน
หลังจากที่พระโอรสประสูติได้ไม่ถึง ๓ ชั่วโมง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกได้ส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีใจความว่า “ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย” และหลังจากนั้นอีก ๙ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานนามว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งมีความหมายว่า “พลังของแผ่นดินที่มีอำนาจหาใดเปรียบมิได้” ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” โดยคนทั่วไปจะเรียกพระองค์ว่า “พระองค์เล็ก”
– ๑๓ ธันวาคม ๒๔๗๑ เสด็จฯ นิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรก
||หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงตั้งพระทัยที่จะไปฝึกงานแบบแพทย์ประจำบ้าน (Internship) ที่โรงพยาบาลศิริราช และจะพาสมาชิกครอบครัวมหิดลกลับมาประทับที่ไทยอย่างถาวร
การมาครั้งนี้เป็นการกลับมาประเทศไทยเป็นครั้งแรกของสองพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี
– ๒๔ กันยายน ๒๔๗๔ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จสวรรคตในขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้เพียง ๑ ปี ๙ เดือนเท่านั้น
– ๒๔๗๔ ทรงเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนอนุบาลของมิสซิสเดวีส เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเปิดสอนที่บ้านในกรุงเทพฯ
– ๒๔๗๕ ทรงย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนอนุบาลของมิสซิสเดวีส ปิดตัวลง
– ๘ เมษายน ๒๔๗๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทย ครอบครัวมหิดลได้ออกเดินทางไปยุโรปตามพระดำริของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
– ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ เดินทางถึงโลซานน์
|||, ช่วงที่ ๒:๒๔๘๐ – ๒๔๘๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/Zone-5-0.jpg;
– ๒๔๘๐ พระองค์มีพระอาการสายพระเนตรสั้น โดยผู้สังเกตเห็นความผิดปกติคือ ครูประจำชั้น เห็นว่าเวลาทรงลอกอะไรจากกระดานดำต้องทรงลุกขึ้นไปบ่อยๆ จึงต้องฉลองพระเนตร (สวมแว่นตา) ตั้งแต่ยังไม่ ๑๐ พระชันษา
– ๒๔๘๐ ทรงร่วมกันตั้งสโมสร “ปาตาปุม”
||พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงร่วมกันตั้งสโมสรปาตาปุม (Club Patapoum) ขึ้นมา เพื่อการหาความสนุกและในขณะเดียวกันก็เป็นการทำบุญ เงินของสโมสรมาจากค่าสมาชิกและจากการหารายได้ ค่าสมาชิกนั้นคือส่วนหนึ่งของเงินที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีให้ทั้งสองพระองค์ทุกสัปดาห์ ถ้าองค์ใดได้ของขวัญเป็นเงินจะต้องเสียภาษีให้สโมสร บางครั้งก็มีการหารายได้พิเศษ เช่นการออกขายสลากด้วยของที่อยู่ จะมีการเก็บภาษีจากรายได้ร้อยละ ๕๐ ไว้สำหรับคนจน
– ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ เวลา ๐๖.๐๐ น. เรือถึงเกาะสีชัง เสด็จนิวัตประเทศไทยพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘
– ๑๓ มกราคม ๒๔๘๒ (ตามปีปฏิทินปัจจุบัน) เสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ
– ๒๔๘๔ ทรงเก็บเงินซื้อแซกโซโฟนมือสองในราคา ๓๐๐ ฟรังก์ โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง (สนับสนุนโดยสโมสรปาตาปุม) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงออกให้อีกครึ่งหนึ่ง
– ๒๔๘๘ ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ในคณะวิทยาศาสตร์
– ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง ทรงเสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งทรงเจริญพระชนมายุ ๑๘ พรรษาพอดี กลับมาครั้งนี้ทรงเติบโตเป็นสุภาพบุรุษหนุ่มที่สง่างามด้วยพระราชจริยวัตรอันอ่อนโยนและมีเมตตา
– เมษายน ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงแรก “แสงเทียน” ขณะมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา
– ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลาใกล้ ๐๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคต
||เช้าวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ เหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจคนไทยอย่างรุนแรงที่สุดก็ได้เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน เหล่าพสกนิกรไม่อาจทำใจให้เชื่อได้เลยว่าเป็นเรื่องจริง แต่ความเศร้าโศกใดที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจเทียบได้กับความทุกข์โทมนัสที่ต้องพลัดพรากจากผู้อันเป็นที่รักของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ผู้ทรงสูญเสียสมเด็จพระบรมเชรษฐาธิราชผู้เป็นทั้งพี่และเพื่อนสนิทที่สุด
วิกฤตการณ์อันโหดร้ายที่สุดในพระชนม์ชีพครั้งนี้ไม่เพียงทำให้พระราชหฤทัยแทบแหลกสลาย หากแต่ยังได้เปลี่ยนพระชะตาชีวิตของพระองค์ไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมอย่างเร่งด่วนและลงมติเป็นเอกฉันท์ให้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
แม้จะเป็นเรื่องยากต่อการทำพระราชหฤทัยเพียงใดที่ไม่มีสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชอีกแล้ว แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป มุ่งหน้าสู่เส้นทางชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
– ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ ทรงอำลาพสกนิกร เพื่อเสด็จฯกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การกลับไปครั้งนี้พระองค์ทรงเสียสละที่จะละทิ้งสาขาวิทยาศาสตร์ที่ทรงโปรด มาเรียนสาขาการปกครองแทน
||ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสอำลาพสกนิกรไทยทางวิทยุกระจายเสียง เพื่อเสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใจความว่า“ข้าพเจ้ามีความจำเป็นที่จะต้องจากประเทศไทยและพวกท่านทั้งหลาย เพื่อไปศึกษาต่อให้มีความรู้ด้านใหม่”
ในการนี้ทรงตั้งพระทัยที่จะเปลี่ยนสาขาการเรียนจากวิทยาศาสตร์มาศึกษาด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์แทน เนื่องจากทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าสำหรับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์
|||, ช่วงที่ ๓:๒๔๙๐ – ๒๔๙๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/โซน-5-3-1.jpg;
– พ.ศ. ๒๔๙๑ ระหว่างประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ และเสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสในขณะนั้น กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร ซึ่งกำลังศึกษาด้านดนตรีอยู่ที่ปารีส และในปีต่อมา ได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร โดยมีพิธีเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
– พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยพร้อมพระคู่หมั้น โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสอย่างเรียบง่ายในวังสระปทุม โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานในพระราชพิธี เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ อยู่เคียง “คู่พระบารมี” นับแต่นั้นเป็นต้นมา
|||, ช่วงที่ ๔:๒๕๐๐ – ๒๕๐๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/zone-5บวช.jpg;
– หลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ๑๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชศรัทธาอันแน่วแน่ที่จะทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จึงเสด็จออกทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน ในระหว่างทรงดำรงสมณเพศ ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับพระภิกษุอื่น ๆ
– ทรงลาสิกขาและกลับสู่พระราชภาระในฐานะพระมหากษัตริย์
เมื่อทรงลาสิกขาและกลับสู่พระราชภาระในฐานะพระมหากษัตริย์ ก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกื้อหนุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ทุกศาสนาในประเทศไทยอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม ที่น้อมนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ในการครองตน ครองคน ครองงาน อย่างประเสริฐจนเกิดผลดีเป็นที่ประจักษ์ชัดมาตลอดรัชสมัยของพระองค์
|||, ช่วงที่ ๕:๒๕๑๐ – ๒๕๑๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/zone-5-ถ่ายรูป.jpg;
– พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระราชอัธยาศัยด้านการถ่ายภาพนี้น่าจะทรงได้ต้นแบบมาจากสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ยังทรงถ่ายภาพมาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งภาพถ่ายบุคคล ครอบครัว ทิวทัศน์ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ และเมื่อเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ทรงถ่ายภาพราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ และผู้คนที่ทรงพบเห็น ภาพภูมิประเทศ เส้นทางคมนาคม ทั้งจากแนวพื้นราบ บนภูเขาสูง และจากเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง
– ภาพถ่ายของพระองค์มิได้ทรงถ่ายเป็นงานศิลปะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าทางวิชาการ นำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ดั่งพระราชดำรัสของพระองค์ความว่า
“…การถ่ายรูปเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายรูปกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง…”
– ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่มีเป็นจำนวนมากตลอดช่วงเวลาที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ โปรดให้มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบและได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการภาพถ่ายต่าง ๆ ตามโอกาส ซึ่งได้กลายเป็นบันทึกความเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมไทยที่มีคุณค่าและอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทยตลอดไป
|||, ช่วงที่ ๖:๒๕๒๐ – ๒๕๒๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/zone-5-เล่นดนตรี.jpg;
– พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปิน ด้วยเพราะทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะเกือบทุกแขนง ทรงสร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นคุณูปการแก่แผ่นดินนับอเนกอนันต์ โดยเฉพาะในด้านดนตรี เนื่องจากทรงมีความสนพระราชหฤทัยทางด้านดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มเรียนและฝึกฝนดนตรีมาตั้งแต่ครั้งศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
– ทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๓๘ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง มีเพลงแสงเทียน ยามเย็น สายฝน ใกล้รุ้ง ชะตาชีวิต เป็นต้น และอีกหลายบทเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความหวัง เป็นขวัญและกำลังใจ รวมถึงสร้างความสุขให้แก่ประชาชน และทรงใช้ดนตรีในการกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยทรงเข้าร่วมบรรเลงกับวงดนตรีของประเทศต่างๆ ที่ได้เสด็จฯเยือน ทำให้ชาวโลกประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์ได้อย่างชัดเจน
|||, ช่วงที่ ๗:๒๕๓๐ – ๒๕๔๐;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/zone-5-องค์ที่-7.jpg;
– “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระปฐมบรมราชโองการ พระราชทานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ ภาพที่คนไทยได้เห็นและคุ้นตา คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จฯ ไปในพื้นที่ชนบทห่างไกล
และทุรกันดาร ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทุกตารางนิ้ว ทุกถิ่นทุรกันดาร เพื่อเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขของราษฎร
– พระองค์จะเสด็จฯ ไปให้ถึงที่หมายทุกแห่ง ทรงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความทุกข์ยากและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในทุก ๆ ด้าน จนก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายหลายพันโครงการ แม้พระชนมพรรษามากขึ้น แต่ก็มิเคยหยุดทรงงาน เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สุข ตามคำมั่นสัญญาที่ทรงให้ไว้ทุกประการ
|||, ช่วงที่ ๘:๒๕๔๐ – ๒๕๔๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/zone-5-องค์ที่-8.jpg;
– วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ (ปีสุดท้ายในการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล) ช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีของเหล่าบัณฑิต ที่ได้ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ผ่านการได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรจดจำไปตลอดชีวิต พระองค์ทรงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ จากนั้นได้เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอีกมากมายต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
– พระองค์ต้องประทับอยู่เป็นเวลานานหลายชั่วโมงเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตนับพันคน ทรงตระหนักได้ถึงความปวดเมื่อยและไม่สบายพระวรกาย แต่ทรงปล่อยวางไม่ยึดติดกับความรู้สึกนั้น เพื่อพระราชทานเกียรติและให้กำลังใจแก่บัณฑิตใหม่ทุกคน ทรงปฏิบัติพระราชกิจนี้สืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งเมื่อมีพระชนมพรรษามากขึ้น ประกอบกับทรงพระประชวร จึงต้องยุติพระราชกิจลงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒
|||, ช่วงที่ ๙:๒๕๕๐ – ๒๕๕๙;
https://www.cnmimuseum.com/wp-content/uploads/zone-5-องค์ที่-9.jpg;
– ในช่วงท้ายของพระชนมชีพ เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปประทับในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่เพื่อรักษาพระอาการประชวร แต่เวลาทุกนาทีของพระองค์มีค่าเพื่อประชาชน พระองค์ยังคงทรงงานไม่เคยว่างเว้น ทรงติดตามความเป็นไปในบ้านเมืองอยู่ตลอดเสมอมา
– ตลอดพระชนมชีพ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงปกครองด้วยความรักประชาชนของพระองค์โดยแท้จริง ตราบเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปตามสัจธรรมของธรรมชาติ คุณงามความดีของพระองค์ยังคงติดตราตรึงในดวงใจของพสกนิกรทั้งประเทศตลอดกาลนาน
|||
พระราชประวัติตลอดพระชนม์ชีพ ตั้งแต่ พ.ศ.2470 – 2559
ประติมากรรม ๙ ช่วงชีวิต สื่อถึงชีวิตใดๆ นั้นล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แท้จริงแล้วไม่มีตัวตนที่แท้จริง ถึงเวลาก็ดับสลายไปตามเหตุปัจจัย ชีวิตควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้ก่อเกิดความผาสุกทางจิตวิญญาณเป็นความรู้สึกภายในจิตใจของบุคคล ที่แสดงถึงภาวะสงบ เป็นสุข มีความเข้มแข็งในจิตใจ ยอมรับความจริง มีเป้าหมายในชีวิต มีความหวัง ยอมรับและพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ของตนเอง มีกำลังใจในการเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงควรหมั่นทำความดี หากแม้ตัวตนจะแตกสลายดับไปแต่ความดีนั้นยังคงอยู่ยืนยาว โดยมีในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นแบบอย่าง
ความเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อพระราชกรณียกิจตลอดกว่า 70 ปี
สิ่งที่พระองค์ทรงแสดงอย่างเป็นที่ประจักษ์ คือ ความเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อพระราชกรณียกิจตลอดกว่า 70 ปีในฐานะประมุขของประเทศ ทรงเป็นแบบอย่างให้เราในฐานะผู้ที่มีสามัญลักษณะเช่นกัน ได้ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นในโอกาสที่เราได้ตั้งอยู่และดับไปในที่สุด
แบบฟอร์มการจองวัน - เวลา
เพื่อเข้าชมนิทรรศการ
สำหรับบุคคลทั่วไป
เที่ยวชมตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น.
การเข้าชมแบบหมู่คณะสำหรับชาวต่างชาติ
ติดต่อเจ้าหน้าที่
การเดินทาง
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
111 ถนนเลียบคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
สามารถติดต่อเวลาทำการ 10.00 – 17.00 น. ได้ที่เบอร์ 0 2839 6000
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit.
มูลนิธิรามาธิบดีฯ
จัดทำเพื่อเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์มูลนิธิสุขุโม องค์กรส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษา กีฬา การแพทย์ ศาสนา และสาธารณกุศลต่างๆ โดยไม่หวังผลกำไร ในวาระที่ได้สนันสนุนโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งปัญญา “องค์จักรีนฤบดินทร์บันดาลใจ” สถาบันการแพทย์ จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล